ก่อนกู้เงินต้องรู้ ขอสินเชื่อต้องเตรียมตัวอย่างไร

Last updated: 6 มี.ค. 2564  |  2137 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ก่อนกู้เงินต้องรู้ ขอสินเชื่อต้องเตรียมตัวอย่างไร

สำรวจสถานภาพทางการเงินของตัวเอง 
สำรวจตัวเองว่าฐานะการเงินและความพร้อมในการต้องการกู้ของเรามีความพร้อมมากแค่ไหน มีหนี้ติดตัวมาหรือไม่ เช่น หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งหนี้ทั้งหมดรวมถึงหนี้การกู้สินเชื่อ เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 40% ของรายได้หรือเงินเดือนของเรา ธนาคารถึงจะมองว่าเรามีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ 

อ่านเพิ่มเติม : เตรียมตัวให้พร้อมก่อนขอสินเชื่อซื้อรถยนต์

อย่าลืมสำรวจอัตราดอกเบี้ย
เพราะธนาคารจะมีเงื่อนไขให้อัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันและวงเงินให้กู้แตกต่างกัน เช่น ถ้าสินทรัพย์ราคาต่ำ เป็นต้นว่า คอนโดราคาต่ำกว่า 300,000 บาท บางธนาคารจะไม่อนุมัติ ดังนั้น อันดับแรก เราต้องเช็คก่อนว่า วงเงินกู้ของเราที่ตั้งไว้กู้ผ่านเงื่อนไขของธนาคารหรือไม่

สำรวจและเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย
โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่ธนาคารเรียกเก็บ เช่น ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ปัจจุบันมีหลายธนาคารที่จัดโปรโมชั่นในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า ซึ่งโดยปกติค่าธรรมเนียมการยื่นกู้จะอยู่ที่ 0.10% – 0.25 %

สำรวจเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการขอสินเชื่อ
แต่ละธนาคารมักมีข้อกำหนด กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างกันค่ะ ดังนั้นเราควรศึกษาและเปรียบเทียบก่อน เช่น บางธนาคารมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ว่า ผู้กู้มีรายได้และมีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ อายุ อาชีพ รายรับทางบัญชี งบการเงิน สำหรับเทคนิคง่าย ๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้กู้รู้ทันและเตรียมตัวที่จะศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเลือกสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น วิธีง่ายที่สุดที่จะหาข้อมูลคร่าว ๆ คือ เลือกห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่พอควร แล้วไปเที่ยวห้างนั้น จากนั้นก็เดินขอรายละเอียดจากธนาคารในห้างนั้นให้ครบทุกธนาคาร ก็จะประหยัดเวลาในการหาข้อมูลไปได้มากทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม : Statement ดูดีก็ ขอสินเชื่อได้ง่าย ทุกครั้งที่ขอกู้

เตรียมเอกสารให้พร้อม
การเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อให้พร้อมจะช่วยให้ระยะเวลาการขออนุมัติสินเชื่อสั้นลง ยิ่งเอกสารครบถ้วนเท่าไหร่ การอนุมัติก็จะง่ายขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามในแต่ละธนาคารก็อาจขอเอกสารที่แตกต่างกันไปบ้างตามประเภทของสินเชื่ออและตามนโยบายของแต่ละธนาคาร ซึ่งเอกสารแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

เอกสารประจำตัว เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีนิติบุคคล อาจใช้สำเนาทะเบียนการค้า หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล

เอกสารเกี่ยวกับรายได้ ได้แก่

ผู้มีรายได้ประจำ ใบรับรองเงินเดือน หรือหลักฐานการรับ/จ่ายเงินเดือนจากนายจ้าง สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร
ผู้มีอาชีพอิสระ กรณีเป็นสัญญาจ้าง อาจใช้สำเนาสัญญาว่าจ้างและหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง กรณีเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้สอบบัญชี วิศวกร สถาปนิก ควรแสดงใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วยบัญชีเงินฝาก พร้อมใบแจ้งยอดบัญชี หรือสเตทเมนต์ (statement) ของบัญชีเงินฝากของตนเองหรือของกิจการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หลักฐานรายได้หรือทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ใบหุ้น พันธบัตรรัฐบาล บัญชีเงินฝากธนาคาร
นิติบุคคล ได้แก่ สำเนางบการเงินปีล่าสุด และย้อนหลังไม่น้อยกว่า 3 ปี สำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี สำเนาเอกสารสิทธิในทรัพย์สินที่เสนอเป็นหลักประกัน และแผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ
เอกสารอื่น ๆ  เช่น สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญามัดจำ สำเนาโฉนดที่ดิน หรือสำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ สัญญากู้เงิน และสัญญาจำนองจากสถาบันการเงินเดิม ในกรณีมีผู้กู้ร่วม จะต้องมีหลักฐานประจำตัว และหลักฐานรายได้ของผู้กู้ร่วม ในกรณีที่ขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สิ่งที่จำเป็นคือแผนธุรกิจ เช่น แผนธุรกิจของ SMEs แผนโครงการที่ต้องการดำเนินการ

การติดตามทวงถามหนี้
“ก่อหนี้เท่าที่จำเป็นและจ่ายไหว” และ “เป็นหนี้ต้องชำระ” เป็นกฎเหล็กที่ลูกหนี้ควรปฏิบัติ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้วลูกหนี้กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะทวงเงินคืนหรือจ้างตัวแทนที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ ซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558​​ เช่น ​

ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ และห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้อื่นทราบ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งลูกหนี้ระบุไว้
กรณีเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการทวงหนี้ ต้องแสดงตัวตนต่อลูกหนี้โดยแจ้งชื่อ นามสกุล ชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ รวมทั้งจำนวนหนี้ และถ้าเป็นการทวงหนี้ต่อหน้าให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย​​
กรณีทวงหนี้และขอรับชำระหนี้ด้วย ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้ และเมื่อ ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วต้องออกหลักฐานให้ด้วย
ให้ติดต่อกับลูกหนี้ตามสถานที่ที่ระบุไว้ หากไม่สามารถติดต่อได้ สามารถติดต่อที่ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้ได้ ในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 00 น. และวันหยุดราชการ เวลา 08.00 – 18.00 น. ซึ่งต้องติดต่อในจำนวนครั้งที่เหมาะสม
ห้ามติดต่อลูกหนี้โดยวิธีที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงหนี้ เช่น ใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อว่าเป็นการทวงหนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้
ห้ามข่มขู่ ดูหมิ่น ใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สิน
ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น ใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาล หน่วยงานของรัฐ สำนักงานกฎหมาย บริษัทข้อมูลเครดิต รวมทั้งแสดงข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน
ห้ามทวงหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่กำหนดชักจูงให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระได้
สิทธิของผู้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินกรณีไม่ได้รับอนุมัติหรือถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
หากผู้ขอสินเชื่อถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ผู้ขอสินเชื่อสามารถขอทราบเหตุผลของการไม่อนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อมีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงศักยภาพ และสามารถขอสินเชื่อได้ใหม่ในอนาคต โดยตัวอย่างคำชี้แจง เช่น รายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ มูลหนี้คงค้างสูงเกินไป นอกจากนั้น ในกรณีการขอสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ หากถูกปฏิเสธสินเชื่อ ก็สามารถขอรับคืนเอกสารสำคัญที่เคยยื่นไว้เพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ เช่น งบการเงิน แผนประกอบธุรกิจ รายละเอียดหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะต้องคืนให้ภายในเวลาอันควร 

หากวางแผนการเงินมาอย่างดี มีหน้าที่การงานมั่นคง และเตรียมตัวมาแล้วอย่างดีการขอสินเชื่อส่วนบุคคลหรือแม้จะเพื่อธุรกิจเองก็จะผ่านฉลุย MoneyGuru อยากให้ทุกคนว่างแผนการเงินที่ดี และหากอยากได้ตัวช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินแต่คุณก็ต้องมีวินัยทางการเงินด้วยนะ เราก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่น่าสนใจมากมาย สามารถเข้ามาเปรียบเทียบบัตรเครดิตที่มีเงื่อนไขเหมาะสมกับคุณได้ที่นี่เลย 

ที่มา : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้